Wednesday, April 29, 2015

ศาล ไม่ได้พิเศษเหนืออำนาจอื่นใด และเหนืออำนาจประชาชน ศาลต้องถูกตรวจสอบได้ (โดย อ.สถิตย์ ไพเราะ)

ศาล ไม่ได้พิเศษเหนืออำนาจอื่นใด และเหนืออำนาจประชาชน ศาลต้องถูกตรวจสอบได้ (โดย อ.สถิตย์ ไพเราะ)


ศาลตรวจสอบได้:  สถิตย์ ไพเราะ

พระบรมฉายาลักษณ์ที่ติดไว้ในห้องพิจารณาของศาลทุกแห่ง หมายถึงองค์พระมหากษัตริย์ หรือบุคลาธิฐานของอำนาจอธิปไตย ซึ่งเป็นของชนชาวไทย
ความคลุมเครือเช่นนี้ ลามไปถึงการแต่งกาย ท่านั่ง หรือคำพูดของผู้เข้าฟัง หรือล่ามในการพิจารณาคดีด้วย เช่น ห้ามแต่งกาย “ไม่เรียบร้อย” ห้ามนั่งไขว่ห้าง ฯลฯ ทำให้ไม่ชัดนักว่า ผู้เข้าฟังหรือร่วมในการพิจารณาคดีกำลัง “เข้าเฝ้า” หรือเพียงแต่อยู่ในห้องพิจารณาคดีของศาลในประเทศประชาธิปไตยกันแน่
ความ”ศักดิ์สิทธ์”ของศาลเพิ่งสร้างขึ้นไม่นานมานี้เอง หาได้เป็นมรดกตกทอดมาจากยุคโบราณไม่
แต่สร้างขึ้นเพื่อให้พ้นจากการถูกตรวจสอบ จึงเอาไปผูกไว้กับสถาบันพระมหากษัตริย์
ซึ่งย่อมอยู่พ้นไปจากการถูกตรวจสอบเช่นกัน
จริงหรือ
ผมว่าไม่จริง เพราะ
1. การถูกตรวจสอบ หมายความว่าอย่างไร หมายความว่าถูกติเตียน ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ถูกนินทาไม่ได้เลยใช่หรือไม่ ถ้าใช่ คำกล่าวข้างบนนี้ก็ไม่จริงเพราะผู้พิพากษาหรือตุลาการทุกคนในศาลยุติธรรมย่อมรู้ว่าในคดีแพ่งนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า คำสั่งของศาลคู่ความต้อง “โต้แย้ง” ได้ว่าผิดอย่างไร มิฉะนั้นจะอุทธรณ์ไม่ได้ ในกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 211 ก็บัญญัติว่า ในคำฟ้องอุทธรณ์คู่ความต้อง “คัดค้าน” ว่า คำพิพากษาของศาลชั้นต้น “ไม่ถูกต้อง” อย่างไร ถ้าไม่ “โต้แย้ง”หรือ”คัดค้าน” คำฟ้องอุทธรณ์(หรือฎีกา) เป็นคำฟ้องอุทธรณ์หรือฎีกาที่ไม่ชอบ ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ เพราะฉะนั้นในคำฟ้องอุทธรณ์หรือคำฟ้องฎีกาผู้พิพากษาในศาลยุติธรรมต้องอ่านหรือได้อ่าน คำ “โต้แย้ง” หรือ “คัดค้าน”อยู่ทุกวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์หรือศาลฏีกา ผู้พิพากษาที่อ่านคำฟ้องอุทธรณ์หรือคำฟ้องฎีกาดังกล่าวย่อมรู้สึกได้ว่า ศาลยุติธรรมไม่ได้พ้นจากการถูกตรวจสอบแต่อย่างใด เพราะกฎหมายได้กำหนดไว้ชัดเจนอย่างนั้น แต่ต้องเข้าใจว่าการตรวจสอบหรือการโต้แย้งคัดค้าน ดังกล่าวนี้เป็นคนละเรื่องกับการดูหมิ่นศาล ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 การโต้แย้งคัดค้านไม่ใช่การดูหมิ่นศาลอย่างแน่นอน ตัวอย่างเช่น เมื่อผมเป็นผู้พิพากษาศาลจังหวัดนครราชสีมา เมื่อพ.ศ.2513 มีคำฟ้องอุทธรณ์เรื่องหนึ่งทนายจำเลยเรียงอุทธรณ์คำพิพากษาของผมตอนหนึ่งว่า “พยานโจทก์อย่างนี้มีแต่เด็กที่ปากยังไม่สิ้นกลิ่นน้ำนมเท่านั้นที่จะเชื่อและลงโทษจำเลย” ถ้อยคำดังกล่าวนี้มีผู้พิพากษาบางท่านเห็นว่าเป็นคำกล่าวที่เป็นการ “ดูหมิ่น”ศาลไม่ควรรับอุทธรณ์ ควรสั่งให้ไปแก้ไขใหม่ และถ้าเป็นไปได้ควรแจ้งดำเนินคดีกับทนายความคนนั้นในข้อหา “ดูหมิ่นศาล” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา198ด้วย แต่ผมเห็นว่าเป็นเหตุผลที่ทนายจำเลยอ้างเพื่อประกอบการพิจารณาพิพากษาของศาลอุทธรณ์ เป็นเหตุที่ทนายจำเลยให้เพื่อ “คัดค้าน”คำพิพากษาของศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 211 ยังไม่ถึงขั้น “ดูหมิ่น”ศาล ผมจึงรับอุทธรณ์ของจำเลย ผมเห็นว่าต้อง “ตรวจสอบ” คำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะไปสร้างความศักดิ์สิทธิ์ เพื่อให้พ้นจากการตรวจสอบ โดยเอาไปผูกไว้กับสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงย่อมอยู่พ้นไปจากการถูกตรวจสอบเช่นกัน
ตามที่บทความกล่าว เพราะตามกฎหมายและตามข้อเท็จจริงศาลยุติธรรมถูกตรวจสอบอยู่ทุกวันดังกราบเรียนข้างต้น



2.แล้วเหตุผลใด ผู้พิพากษาหรือศาลยุติธรรมจึงนำตนเองเข้าไปผูกไว้กับสถาบันพระมหากษัตริย์
ทำไปเพื่ออะไร
เหตุทำไปก็เพราะเห็นว่าสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นยิ่งใหญ่ กฎหมายรัฐธรรมนูญบัญญัติว่าสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น “อยู่ในฐานะที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้”คนที่ยังยึดติดอยู่กับอำนาจนิยม ยังยึดติดกับระบบเจ้าขุนมูลนายซึ่งเป็นระบบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็พร่ำเพ้ออยากจะอยู่ในฐานะเช่นนั้นบ้าง จึงพยายามอ้างเหตุผลต่างๆ เท่าที่จะหยิบฉวยได้มาแสดงแก่คนทั้งหลาย เมื่อผมเข้าอบรมเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษารุ่น 11 เมื่อพ.ศ. 2511 บรรพตุลาการท่านหนึ่งท่านมีชื่อเสียงมาก มาเปิดอบรมและกล่าวอบรมตอนหนึ่งว่า “คุณต้องภูมิใจว่าคุณเป็นข้าราชการฝ่ายเดียวที่ทำใน “พระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์” แสดงว่าท่านผู้นั้นไปหยิบฉวยเอากฎหมายรัฐธรรมนูญที่บัญญัติว่า ผู้พิพากษาและตุลาการพิจารณาพิพากษาคดีใน “พระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์” ว่าเป็นบทบัญญัติ ”พิเศษ” ยกฐานะของผู้พิพากษาและตุลาการให้เป็นคนหรือข้าราชการฝ่าย “พิเศษ” ต่อมาก็มีการขยายความ ขยายเหตุผลต่อไปว่า ศาลเป็นตัวแทนของพระมหากษัตริย์ ซึ่งทำให้ผู้พิพากษาและตุลาการทั้งหลายคิดและพยายามให้คนอื่นคิดว่าผู้พิพากษาและตุลาการเป็นข้าราชการฝ่ายพิเศษจริงๆเพื่ออะไร ก็เพื่อสนอง ภวตัณหา
คือความอยากมี อยากเป็น อยากใหญ่ ซึ่งก็เป็นธรรมดาของคนที่เป็นคน ไม่ใช่พระที่เป็นพระ
และเมื่อยกรัฐธรรมนูญขึ้นอ้างเช่นนี้ก็เห็นว่าเป็นเหตุผลที่สมใจนึกของผู้พิพากษาและตุลาการทั้งหลาย และคนอื่นก็ไม่กล้าโต้แย้งด้วย คนที่ไม่รู้ก็ไม่รู้จะโต้แย้งอย่างไร คนที่รู้ก็ไม่อยากโต้แย้ง เพราะกลัวว่าพูดหรือเขียนมากไปก็อาจจะเข้าใกล้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ทุกอย่างก็เลยตามเลย ผู้พิพากษาตุลาการทั้งหลายก็ใหญ่โตสมใจพากันยืดอกยกไหล่ คนอื่นก็พากันยกย่อง เช่น กล่าวว่า “ศาลเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน” เป็นต้น ความคิดเช่นนี้แหล่ะครับที่เป็นเหตุให้ศาลแปลคำว่า “ดูหมิ่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ออกไปอย่างกว้างขวาง ขัดกับหลักการตีความกฎหมายอาญา และปฏิบัติต่อผู้ต้องหา หรือจำเลยในคดีอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตร 112 ขัดกับรัฐธรรมนูญ อย่างที่เห็นๆ กันอยู่ เพราะคิดว่าตนเป็นตัวแทนนั้นเอง และเป็นที่เห็นกันอยู่ว่าในการพิจารณาคดีอาญาดังกล่าว ผู้พิพากษามีอคติ 4 ประการ อยู่ในตัวอย่างบริบูรณ์ เมื่อมีอคติย่อมขาดเหตุขาดผล เป็นกลางไม่ได้เมื่อเป็นกลางไม่ได้ก็เป็นผู้พิพากษาที่ดีในคดีนั้นไม่ได้ ผลก็คือตกต่ำ ร่วงโรย เหมือนดวงจันทร์ข้างแรม ดังที่คัมภีร์อินทรภาษได้กล่าวถึงไว้ ถ้าไม่เชื่อท่านผู้อ่านไปฟังการอภิปรายที่หน้าศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษกที่ “ประชาชน” เขาจัดทุกวันอาทิตย์ซีครับ
ความคิดเช่นนี้ สะท้อนให้เห็นจากบทสักวาที่ผู้พิพากษาคนหนึ่งได้เขียนไว้ที่กำแพง ห้องนอนเวร ที่กระทรวงยุติธรรม เมื่อครั้งยังมีระเบียบ ให้ผู้พิพากษา “นอนเวร “ ว่า
สิ้นคิดแล้วหรือเจ้ามาเฝ้าศาล
กลางวันทำในนามพระภูบาล
กลางคืนทำงานเหมือนภารโรง
เมื่อข้อความดังกล่าวรู้ไปถึงปลัดกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้น ท่านคงจะเห็นด้วยกับข้อเขียนนั้น ท่านจึงสั่งให้ยกเลิกระเบียบดังกล่าว โดยให้ผู้พิพากษาเสียเงินเป็นค่าตอบแทนข้าราชการธุรการมานอนเวรแทน คนละ 10 บาทต่อเดือน แทนการมาอยู่เวรด้วยตนเอง
ด้วยเหตุผลนี้ผมจึงเห็นว่า การเอาตัวไปผูกไว้กับสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็เพราะความ
”อยากใหญ่” ซึ่งก็เป็นธรรมดาของคน รวมทั้งผมด้วย ไม่ใช่ต้องการให้พ้นไปจากการถูกตรวจสอบดังที่บทความกล่าวแต่อย่างใด เพราะผู้พิพากษารู้ดีว่าถูกตรวจสอบอยู่ทุกวันอยู่แล้ว ตามเหตุผลในข้อ 1
ถ้าจะว่าไปแล้ว คนเกือบจะทุกคนในประเทศนี้ที่ถูกปกครองด้วยระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มานานนับพันปี ซึมซับแนวความคิดในระบบดังกล่าวมาจนยากที่จะถอน จึงอยากจะผูกตัวเองไว้กับสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสัญลักษณ์ของความศักดิ์สิทธิ์และความยิ่งใหญ่สมกับกิเลสตัณหาของตน เหมือนกับผม แต่ยังหาเหตุผลไม่ได้เหมือนผมเท่านั้นเอง
ถ้าจะให้ผมเสนอวิธีแก้ก็คือ ให้เพิ่มในรัฐธรรมนูญอีกหนึ่งมาตราว่า “ประชาชนนั้นยิ่งใหญ่ เพราะเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย จึงเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” ผู้พิพากษาและตุลาการทั้งหลายก็อาจเปลี่ยนใจ คิดใหม่ ทำใหม่ว่า “ผู้พิพากษาและตุลาการเป็นผู้แทนปวงชน”เพราะเงินเดือน เงินประจำตำแหน่งและเงินสวัสดิการอื่นๆ ที่ผู้พิพากษาและตุลาการได้เป็นเงินภาษีของประชาชนทั้งสิ้น จึงจะขอใช้อำนาจตุลาการเพื่อประชาชน
ข้าราชการก็จะพูดว่า ข้าราชการเป็นข้ารับใช้ประชาชน
ฯลฯ

1 comment:

  1. ผมเองยังเคยร้องเรียนวินัยผู้พิพากษาศาลชั้นต้นและหัวหน้าศาลจังหวัดมาแล้ว แต่ประธานศาลฎีกาให้ยุติเรื่องโดยว่าไม่มีความผิดตามข้อกล่าวหาทั้ง ๆ ที่ความผิดนั้นชัดเจนอย่างยิ่ง

    ReplyDelete