ย้อนดู ′แหวน′ เห็นอะไรเกิดขึ้น ในคดียิง 6 ศพวัดปทุมฯ
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1426720809
วันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2558 เวลา 09:00:00 น.
ขอบคุณข้อมูลจาก นสพ.ข่าวสด
น.ส.ณัฏฐธิดา มีวังปลา หรือ แหวน พยานปากสำคัญในคดี 6 ศพ
วัดปทุมวนาราม จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. เมื่อปี 2553 โดยน.ส.ณัฏฐธิดา หรือ แหวน
ร่วมปฏิบัติหน้าที่เป็นพยาบาลอาสา
และอยู่ในเหตุการณ์บริเวณวัดปทุมวนาราม
ย้อนไปเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ปี 2555
น.ส.ณัฏฐธิดา หรือ แหวน เข้าให้การเป็นพยานชั้นศาลในคำร้องชันสูตรพลิกศพการเสียชีวิต 6 ศพวัดปทุมฯ
ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้
ก่อนที่ศาลจะตัดสินเมื่อวันที่ 6 ส.ค.2556 ว่า 6 ศพในวัดปทุมฯ
ถึงแก่ความตายด้วยอาวุธปืนความเร็วสูงของเจ้าพนักงานทหารที่ปฏิบัติการอยู่บนรางรถไฟฟ้า บีทีเอส
หน้าวัดปทุมฯ และบริเวณ ถ.พระราม 1
ชื่อของ น.ส.ณัฏฐธิดา หรือ แหวน
ปรากฎเป็นข่าวอีกครั้ง เมื่อนายวิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการกลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน (กนส.)
โพสต์เฟซบุ๊กหลังรับทราบเรื่องจากญาติของแหวน ว่า ทหารมาคุมตัวแหวนไปตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค. 58 ขณะที่
พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช. ก็ออกมาปฏิเสธเรื่องนี้ทันทีว่า ทหารไม่ได้มีการควบคุมตัว "แหวน"
ไป
ต่อมาเหตุการณ์กลับเปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ 17 มี.ค. 58
เจ้าหน้าที่ทหาร พัน ร. มทบ.11 นำตัว น.ส.ณัฏฐธิดา หรือ แหวน ส่งบช.น. แจ้งข้อหาก่อการร้าย และอั้งยี่
ฐานมีความเกี่ยวข้องกับขบวนการขว้างระเบิดใส่ศาลอาญา รัชดา
ในความเห็นของนายวิญญัติ ในฐานะทนายความ
มองว่าประเด็นนี้เป็นการทำลายน้ำหนักพยาน กระทบต่อคดีความแน่นอน
เมื่อพยานกลายมาเป็นผู้ต้องหาจะมีผลให้พยานไม่มีน้ำหนัก ไม่น่าเชื่อถือ
เนื่องจากคำตัดสินของศาลประเด็นชันสูตรพลิกศพนี้
จะขยายผลไปถึงการฟ้องร้องเอาผิดผู้สั่งการ
เช้าวันที่ 19 มี.ค. นสพ.ข่าวสด ได้นำคำให้การในชั้นศาลของ
น.ส.ณัฏฐธิดา หรือ แหวน เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2555 มาเผยแพร่อีกครั้ง โดยในวันดังกล่าว "แหวน"
เข้าให้การเบิกความเกี่ยวกับการเสียชีวิตของ น.ส.กมนเกด อัคฮาด นายอัครเดช ขันแก้ว และนายมงคล เข็มทอง
เนื่องจากร่วมปฏิบัติหน้าที่และเห็นเหตุการณ์การเสียชีวิตของทั้ง 3 คน ในโอกาสนี้
มติชนออนไลน์ จึงขอนำคำเบิกความของน.ส.ณัฏฐธิดา หรือ แหวน ในคดี 6 ศพ วัดปทุมฯ
มาเผยแพร่ผ่านช่องทางนี้อีกครั้ง
-คำเบิกความของ น.ส.ณัฏฐธิดา หรือ แหวน มีวังปลา
มีรายละเอียดดังนี้
พยานเข้าไปตั้งเต็นท์ที่ราชประสงค์ตั้งแต่วันที่ 16 เม.ย. 2553
ที่บริเวณหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จนกระทั่งช่วงเช้าของวันที่ 19 พ.ค. 2553 พยาน น.ส.กมนเกด
และนายอัครเดช ได้ย้ายเข้าไปใน
วัดปทุมวนารามเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ชุมนุมที่เข้าไปหลบภายในวัด
ขณะนั้นวัดปทุมฯ
ถูกประกาศให้เป็นเขตอภัยทาน โดยมีนายมงคลเข้ามาสมทบที่เต็นท์พยาบาลเวลาประมาณ 14.00 น.
โดยเต็นท์อยู่หน้าสหกรณ์ ซึ่งอยู่ใกล้กับประตูทางออกของวัด
ต่อมาเวลาประมาณ 16.00 น. พยานได้ยินเสียงปืนดังมาจากทางด้านแยกเฉลิมเผ่า
เมื่อเกิดเสียงปืน ผู้ชุมนุมที่อยู่บนถนนพระราม 1
ข้างนอกวัดได้วิ่งเข้าภายในวัด
และพยานได้เห็นนายอัฐชัย ชุมจันทร์ อยู่ที่บริเวณตอม่อรางรถไฟฟ้า ถูกยิงล้มลง แต่นาย
อัฐชัยยังลุกขึ้นได้และวิ่งมาล้มลงอีกครั้งที่ประตูวัด พยานและนายอัครเดช
จึงเข้าไปช่วยพาเข้าเต็นท์เพื่อปฐมพยาบาล ขณะนั้นน.ส.กมนเกดไปเอาถังออกซิเจน
หลังจากที่นายอัฐชัยเสียชีวิตลงแล้วพยานได้ถ่ายรูปนายอัฐชัยไว้และเข้าไปถามหาญาติที่สวนป่าในวัด
ขณะกำลังเดินเข้าไปตามหาญาติของนายอัฐชัย
มีผู้ชุมนุมวิ่งสวนพยานออกมาจากสวนป่าและขอยาล้างตากับพยาน
ผู้ชุมนุมบอกกับพยานว่ามีแก๊สน้ำตาตกที่บริเวณห้องน้ำภายในสวนป่า
ซึ่งมาจากทางด้านหลังของวัด
จากนั้นพยานร่วมกับ น.ส.กมนเกด นายอัครเดช และนายมงคล
ได้กลับไปที่เต็นท์ด้านหน้าวัดอีกครั้งเพื่อเก็บอุปกรณ์การแพทย์เพื่อย้ายเข้าไปในสวนป่า
เนื่องจากคิดว่าบริเวณด้านหน้าวัดไม่ปลอดภัยแล้ว
ขณะเดินออกมาก็มีกระสุนยิงตกกระทบที่พื้นข้างหน้าของพยาน
ทำให้พื้นตรงหน้าเป็นฝุ่นกระจายขึ้นมาและพื้นเป็นหลุมลงไป
โดยระหว่างนี้มีผู้บาดเจ็บเข้ามาขอความช่วยเหลือกับพยาน 2 คน คือ นายกิตติชัย แข็งขัน
ถูกยิงที่ฝ่ามือขวา หลัง และโคนขาขวา และนายบัวศรี ทุมมา
ถูกยิงที่ส้นเท้า
ขณะที่ น.ส.กมนเกด นายอัครเดช และนายมงคล
กำลังเก็บของอยู่ในเต็นท์พยาบาลได้มีกระสุนสาดลงมา โดยขณะนั้นพยานอยู่ห่างจากเต็นท์ไปราว 5 เมตร
เมื่อพยานได้ยินเสียงปืนจึงตะโกนบอกให้ทั้ง 3 คน หมอบ
โดยไม่ได้หันกลับไปมองที่เต็นท์
จากนั้นค่อยหันกลับไปดูเห็นทุกคนหมอบอยู่จึงคิดว่าหมอบตามที่ตัวเองเตือน
พยานเห็น น.ส.กมนเกด คลานตะเกียกตะกายจะไปที่รถกระบะที่จอดอยู่ด้านท้ายของเต็นท์ แต่ยังไปไม่ถึง
น.ส.กมนเกด ก็หมอบนิ่งไป ส่วนนายมงคล พยานไม่เห็นว่ามีการขยับ นายอัครเดช
เห็นยังขยับอยู่
ในระหว่างเกิดเหตุไม่มีใครสามารถเข้าไปช่วยได้
เนื่องจากมีการยิงลงมาจากทหารบนรางรถไฟฟ้าตลอด
โดยยืนยันจากการที่ได้เห็นว่ามีประกายไฟเมื่อกระสุนกระทบกับเสาเหล็ก
เห็นพื้นปูนเป็นฝุ่นฟุ้งและเป็นหลุมจากการตกกระทบของลูกกระสุน
ส่วนพยานยังหลบอยู่ที่กระถางต้นไม้ในบริเวณนั้นกับนักข่าวต่างประเทศ
ชื่อนายแอนดรูว์ (พยานไม่ทราบนามสกุล)
ขณะหลบอยู่นั้นนักข่าวได้ชันเข่าขึ้นมาทำให้ถูกยิงด้วย
จากนั้นพยานพยายามเข้าไปในสวนป่าเพื่อขอให้คนออกไปช่วย น.ส.กมนเกด
นายอัครเดช และนายมงคล เข้ามาในสวนป่า ซึ่งตอนนั้นน.ส.กมนเกด และนายมงคลได้เสียชีวิตไปแล้ว
ส่วนนายอัครเดช ขณะที่ช่วยเข้าไปสวนป่ายังมีชีวิตอยู่
โดยเวลาขณะที่เข้าไปช่วยทั้ง 3 คนนั้นเป็นเวลาประมาณ 19.00 น.
เมื่อช่วยเข้ามาได้แล้วเวลาประมาณ 20.00 น. นายอัครเดช จึงเสียชีวิต จากนั้นเวลาประมาณ 23.00 น.
จึงมีรถพยาบาลเข้ามารับคนเจ็บออกจากวัด ซึ่งมีการติดต่อไปตั้งแต่ราว 18.00 น. แล้ว
พยานคิดว่าถ้ารถพยาบาลสามารถเข้ามาเร็วกว่านี้อาจจะสามารถช่วยชีวิตนายอัครเดช
ไว้ได้
น.ส.ณัฏฐธิดา
เบิกความยืนยันว่าในระหว่างเกิดเหตุการณ์พยานได้เห็นทหารบนรางรถไฟฟ้าด้วย 5 นาย โดยใส่ชุดลายพราง
สวมหมวก ด้านหลังหมวกติดสติ๊กเกอร์สีชมพู และทหารบนรางรถไฟฟ้ามีการประทับปืนเล็งลงมาที่วัด
แต่พยานไม่พบเห็นหรือได้ยินเสียงปืนดังขึ้นจากในวัด
พยานกล่าวด้วยว่าในวันนั้นตัวพยานเอง น.ส.กมนเกด นายอัครเดช
มีปลอกแขนเครื่องหมายกาชาดใส่ไว้ชัดเจน ส่วนนายมงคล ใส่ชุดป่อเต็กตึ๊ง
ตามหลักสากลแล้วจะต้องไม่ถูกทำร้ายจากทั้งสองฝ่าย
No comments:
Post a Comment