Thursday, July 5, 2018

กิเลสชั้นละเอียด ที่ถูกปรุงขึ้นมาเป็นกิเลสชั้นกลาง เรียกว่า "นิวรณ์ ๕"


กิเลสชั้นละเอียด ที่ถูกปรุงขึ้นมาเป็นกิเลสชั้นกลาง เรียกว่า "นิวรณ์ ๕" รบกวน
อยู่ที่ มโนทวาร นั้น มีเรื่องที่พึงศึกษาดังนี้

คำว่า นิวรณ์  แปลว่า เครื่องห้าม หรือ เครื่องกั้น ในที่นี้หมายถึง เครื่องกั้นจิต
มิให้บรรลุถึงธรรม ที่สูงขึ้นไป อธิบายว่า ตามปรกติ คนเรา มักมีความรู้สึกที่
เรียกว่า นิวรณ์ อยู่ด้วยกันทุกคน ไม่อย่างใด ก็อย่างหนึ่ง ตามวิสัยของ ปุถุชน
เพราะฉะนั้น จึงเป็นอันว่า จิตของ ปุถุชน ถูกนิวรณ์ เหล่านี้ กีดกันไว้ จากการ
บรรลุธรรมะ ที่สูงขึ้นไป อยู่ทุกครั้ง ที่ กิเลสชั้นละเอียด ถูกปรุง ฟุ้งป่วน ขึ้น
เป็นความกลัดกลุ้ม วุ่นวาย ไม่สงบ รำงับ ในภายใน ผู้ที่สามารถทำจิตให้ว่าง
จากนิวรณ์ ได้ตาม ความต้องการ ของตน นับว่า เป็นปุถุชนพิเศษ หรือ กัลยาณ
ปุถุชน ได้แก่ ผู้มีปัญญา ในการที่จะเปลื้องนิวรณ์ เหล่านี้ ออกไป เสียจากจิต
โดยการยกจิต ขึ้นมาสู่ สมาธิได้สำเร็จ ตามวิธีใด วิธีหนึ่ง เป็นต้น

กามฉันทะ แปลว่า ความพอใจในกาม แต่ความหมาย หมายถึง ความกลัดกลุ้ม
อยู่ด้วยความกำหนัดในกาม จนมืดมัว ไม่แจ่มใส ไม่เห็นแจ้ง ในธรรมตามที่เป็น
จริง ท่านเปรียบอุปมาเหมือนน้ำใส แต่มีสี ต่างๆ มาเจือปน จนหมดความใส

พยาบาท หมายถึง ความกลัดกลุ้ม อยู่ด้วยความไม่พอใจ โกรธแค้น เกลียดชัง
เป็นต้น ซึ่งทำความมืดมัว ให้อีก ในลักษณะหนึ่ง ซึ่งท่าน เปรียบด้วยน้ำที่ใส
แต่ถูกทำให้เดือด พลุ่งพล่าน อยู่ ก็ไม่อาจ ทำให้ผู้มอง มองเห็น สิ่งต่างๆ ที่มี
อยู่ ภายใต้น้ำ นั้นได้

ถีนมิทธะ ความที่จิตหดหู่ เคลิบเคลิ้ม ไม่ร่าเริง แจ่มใส ทำให้ จิต ไม่มีสมรรถ
ภาพ ในการที่จะเห็นแจ้ง ในธรรม ท่านเปรียบเหมือน น้ำใส แต่มีพืช เช่น
ตะไคร่ หรือ สาหร่าย เกิด อยู่เต็ม ก็ไม่อาจจะ มองเห็น สิ่งต่างๆ ใต้น้ำ ได้
เช่นเดียวกัน

อุทธัจจกุกกุจจะ หมายถึง ความฟุ้งซ่าน รำคาญ กระสับกระส่าย ในลักษณะที่
ตรงกันข้าม จากถีนมิทธะ ท่านเปรียบอุปมา ไว้เหมือนน้ำใส แต่ถูก ทำให้เป็น
ละลอกคลื่น หรือ กระเพื่อม อยู่เป็นนิจ ทำให้ไม่สามารถ จะมองเห็นสิ่งใต้น้ำ
เช่น กรวด ปลา และ หอย ได้เช่นเดียวกัน

วิจิกิจฉา ข้อสุดท้ายนั้น หมายถึง ความสงสัย เพราะไม่รู้  หรือ มีอะไร มา
รบกวน ความอยากรู้ ไม่มีความสงบลงได้ ทำให้ เกิดความมืดมัว แก่จิต ไม่
อาจจะเห็นแจ้ง ในสิ่งที่ควรเห็นแจ้ง ท่านเปรียบเหมือน น้ำใส อยู่ในที่มืด
ย่อมไม่อำนวยให้มองเห็นสิ่งต่างๆ ในน้ำนั้นได้

เมื่อพิจารณา ดูจากอุปมาเหล่านี้ จะเห็นความหมายได้ว่า จิตที่เป็นเดิมๆ นั้น
มีลักษณะเป็นประภัสสร คือใสกระจ่าง แต่ได้สูญเสีย ความในกระจ่างไป
เพราะสิ่งภายนอก เข้าไปแทรกแซง โดยการปรุงแต่ง ต่างๆ กัน ใน ๕ ลักษณะ
ที่กล่าวแล้ว เรามีหวัง ที่จะขจัด สิ่งซึ่งเป็น นิวรณ์ เหล่านั้น เช่นเดียวกับ อาจ
จะขจัด สิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ในน้ำ ตามที่กล่าวแล้วในอุปมา ฉะนั้น จึงถือว่า เป็น
สิ่งที่ ไม่เหลือวิสัย และมีลู่ทาง สำหรับให้ปฏิบัติ จนประสบผล ได้โดยแน่นอน
ถ้าสังเกตให้ดี จากอุปมา จะเห็นว่า กามฉันทะ เป็นสิ่งที่ ขจัดยาก เช่นเดียวกับ
น้ำผสมสี เป็นการยาก ที่จะแยกเอาสี ออกจากน้ำ ได้ง่ายๆ ไม่เหมือนกับ การยก
สาหร่าย หรือ จอกแหน ขึ้นจากน้ำ ในอุปมาของ ถีนมิทธะ เป็นต้น เพราะฉะนั้น
ผู้ปฎิบัติ จะต้องเลือกหา ข้อปฏิบัติ ที่เป็น คู่ปรับ โดยตรง กับนิวรณ์ ของตนๆ
โดย หลักทั่วๆ ไป ท่านถือเป็นหลัก เลือกวิธีขจัด นิวรณ์ ๕ ด้วย กัมมัฏฐาน
อารมณ์ ต่างกัน เป็น ๕ อย่าง ดังนี้:

(๑) ให้พิจารณาในทาง อสุภะ และปฏิกูล เช่น กายคตาสติ เป็นต้น ซึ่งจะกำจัด
กามฉันทะ
ได้

(๒) ให้ เจริญ เมตตา โดยนัยเป็นต้นว่า ให้เห็น โดยความเป็น เพื่อนสัตว์ ที่เกิด
แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมด ทุกคน ทุกชีวิต นี่ ย่อม กำจัด พยาบาท

(๓) ให้ทำในใจ ถึง แสงสว่างเป็นอารมณ์ เช่น การเจริญ อโลกสัญญา เป็นต้น
ย่อมกำจัด ถีนมิทธะ ข้อนี้ แม้การทำในใจ ถึงสิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่ง ความเลื่อมใส
หรือ อิ่มใจ เช่น การเจริญ พุทธานุสติ เป็นต้น ก็ อาจจะช่วย กำจัด ถีนมิธะ ได้
ตามสมควร

(๔) ให้ทำจิต จดจ่อ อยู่ที่ สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งง่ายแก่การ จดจ่อ เช่น การเจริญกสิณ
ทั่วๆไป หรือ แม้แต่ การเจริญอานาปานสตย่อมกำจัด อุทธัจจะกุกกุจจะได้

(๕) ให้ทำความเชื่อ ในสิ่งที่ควรเชื่อ แน่ใจในสิ่งที่ควรแน่ใจ ทำให้รู้ในสิ่งที่ควรรู้
เช่น เชื่อในการตรัสรู้ ของพระพุทธเจ้า แน่ใจในเรื่องกรรม หรือทำความรู้ ในเรื่อง
ไตรลักษณ
์ อย่างนี้เป็นต้น ย่อมกำจัด วิจิกิจฉา ให้สิ้นไป

ถ้ากล่าวกลับกัน อีกทางหนึ่ง ถ้าผู้ใด สามารถทำสมาธิให้เกิดขึ้น โดยวิธีใดก็ตาม
จนกระทั่งเป็น อัปปนาสมาธิ คือ สมาธิที่แน่วแน่ แล้ว นิวรณ์ทั้ง ๕ ย่อมเป็นอัน
ระงับไปหมดสิ้น ฉะนั้น ในอันดับแรกนี้ บุคคล ควรเริ่มต้น ด้วยการ เจริญสมาธิ
ที่สะดวกสบาย เช่น อานาปานสติ เป็นต้น ต่อเมื่อทำไปไม่สำเร็จ เพราะนิวรณ์
อย่างใด รบกวนพิเศษ จึงค่อยหันไป เจริญสมาธิ ที่เป็นคู่ปรับกับนิวรณ์นั้นโดย
ตรง จะเป้นวิธีที่ สะดวกกว่า และ ได้ผลดีกว่า

ความไม่มีนิวรณ์ หมายถึง จิตมีลักษณะบริสุทธิ์ ผ่องใส เยือกเย็น ปลอดโปร่ง
เป็นความพร้อม ที่จะรู้แจ้งเห็นจริง ในอรรถะ และธรรม อันลึก นับว่า เป็นสิ่ง
ที่จำเป็น จะต้องมี หรือ ต้องฝึกหัด สำหรับ ผู้ที่ประสงค์ จะก้าวหน้า ไปในทาง
ธรรม แม้จะกล่าวกันอย่างโลกๆ เวลาที่จิต ไม่ถูกนิวรณ์ รบกวน ก็กล่าวได้ว่า เป็น
เวลา ที่มีความ ผาสุก ที่สุด จึงได้มีผู้ หลงใหล ใน รสของ สมาธิ หรือ ฌาน จน
ถึงสิ่งนี้เคยถูก บัญญัติ เหมาเอาว่า เป็น นิพพาน มาแล้ว ในยุคหนึ่ง คือ ยุค ที่ยัง
ไม่มีความรู้ ในทางจิตสูงไปกว่านั้น

คัดจาก หนังสือ ศึกษาธรรมะอย่างถูกวิธี หรือ ธรรมวิภาค นวกภูมิ   
คำบรรยายธรรมะ ของ พุทธทาสภิกขุ ในพรรษา ปีพุทธศักราช ๒๕๐๐ 
พิมพ์โดย สำนักพิมพ์สุขภาพใจ




No comments:

Post a Comment